ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ Koromo

ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ Koromo

เมื่อ 30 กรกฎาคม 2557 เวลา 22:19
เรามาทำความรู้จักปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ Koromo (โกโรโมะ,โคโรโมะ) ไปด้วยกันนะครับ
Koromo ถ้าแปลกันตามตัวอักษร จะแปลว่า เสื้อคลุม หรือ สวมเสื้อคลุม
Koromo ถูกพัฒนามาจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่าง ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์โคฮากุ (Kohaku)และปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์อาซากิ (Asaki)
ความแตกต่างระหว่างปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์โกโรโมะ (Koromo)และ ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ Goshiki (โงชิกิ,โกชิกิ,โกชกิ) คือ ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ Koromo มีพื้นผิวสีขาวบริสุทธิ์ โดยมีตาข่ายคล้ายปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ Asaki (อาซากิ) ปกคลุุมเฉพาะบริเวณส่วนที่เป็นลวดลายสีแดง
Ai Koromo (ไอ โกโรโมะ,ไอ โคโรโมะ) เป็นชื่อที่ถูกใช้เรียก ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ Koromo ที่มีตาข่ายสีฟ้าปกคลุมในบริเวณเกล็ดของลวดลายสีแดง
เราจะเรียก ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ Koromo ซึ่งเป็นสีม่วง ว่า Budo Koromo (บูโด โกโรโมะ,บูโด โคโรโมะ)
ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ โคฮากุ เป็นปลาที่มีลวดลายสีแดงบนพื้นสีขาว อย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้ว
ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ Ai Koromo <ไอ โกโรโมะ (ไอ โคโรโมะ)> เป็นปลาที่มีสีครามบนเกล็ดเพิ่มขึ้นมาในลวดลายสีแดงแบบปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ โคฮากุ นั่นเอง (Ai ออกเสียงว่า ไอ แปลว่า สีคราม)

ปกติก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเพาะพันธุ์ปลาแฟนซีคาร์พให้มีลวดลายแบบ โคฮากุ ที่สวยงาม แต่ที่ยากไปกว่านั้น คือการเพิ่มสีครามลงไปบนลวดลายนั้นด้วย ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุผลที่เราสามารถจะเข้าใจได้ว่า การเพาะพันธุ์ปลาแฟนซีคาร์พให้ได้ ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ไอ โกโรโมะ ที่มีลวดลายสวยงามนั้น มีความเป็นไปได้น้อยมาก เราลองมาพิจารณาปลาตัวในภาพด้านบนกันครับ

อย่างแรก เราลองพิจารณากันที่ ลวดลายของปลาก่อน
ปลาตัวนี้มีส่วนของพื้นผิวสีขาวที่ใหญ่บริเวณไหล่ หรือเรียกง่ายๆตามภาษาบ้านเราว่า เปิดไหล่ เป็นจุดดึงดูดที่ทำให้ปลาตัวนี้ดูสง่า สวยงาม ลวดลายสีแดงวิ่งจากไหล่ขวาของปลาไปจนถึงช่วงโคนหาง สวยงามลงตัวมาก สีครามมีสม่ำเสมอกระจายทั่วผืนแดง ซาชิ (Sashi) หรือขอบสีด้านหน้า มีสีครามสม่ำเสมอยิ่งเพิ่มความสวยงามตามตำราให้ปลาตัวนี้มากยิ่งขึ้นไปอีก ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ไอ โกโรโมะ ที่สวยงามครบเครื่องขนาดปลาตัวนี้ อาจจะมีเพียงตัวเดียวในระยะเวลาแห่งการเพาะพันธุ์ 20-30 ปีเลยทีเดียว
การเพาะพันธุ์ปลาแฟนซีคาร์พข้ามสายพันธุ์ ระหว่างสายพันธุ์ อาซากิและสายพันธุ์ โคฮากุ จะได้ลูกปลาที่ต้องการเป็น ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ โงชิกิ (Goshiki)
วันหนึ่ง ในระหว่างการเพาะพันธุ์ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ โงชิกิ เกิดมีลูกปลาตัวหนึ่ง มีพื้นผิวสีขาว แต่มีลวดลายตาข่ายของปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ อาซากิวางอยู่แต่บนลวดลายสีแดงของปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ โคฮากุ นี่คือจุดกำเนิด ของ ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ไอ โกโรโมะ ในปัจจุบัน

เพราะฉะนั้น การพิจารณาความสวยงามของปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ไอ โกโรโมะ จึงต้องยึดอิงกับคุณภาพของลวดลายแบบ โคฮากุ และความสวยงามสม่ำเสมอของเงาตาข่ายสีครามแบบ อาซากิ ที่เหลื่อมซ้อนกับลวดลายสีแดงด้วย


ทีนี้เราจะลองพิจารณาปลาตัวในภาพ เป็นส่วนๆ ซึ่งมีจุดสังเกตที่สำคัญของ ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ไอ โกโรโมะ ดังนี้

1. การเรียงตัวของสีคราม
เกล็ดปลาจะต้องเรียงตัวเป็นแถว อย่างสม่ำเสมอไปตามลำตัว ตั้งแต่บริเวณไหล่ ไปจนถึงส่วนหาง
ในแต่ละแถวของเกล็ด ตาข่ายสีครามควรจะเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอในทุกๆเกล็ด ปลาตัวนี้ไม่มีส่วนของสีครามที่เรียงตัวสม่ำเสมอทั่วทั้งตัวตามแบบอุดมคติ แต่บริเวณในภาพ สามารถใช้เป็นตัวอย่างที่ดีได้ ในการพิจารณา การเรียงตัวของสีครามบนเกล็ด
2. Ai Sashi (ซาชิสีคราม)
ในปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ โคฮากุ ซาชิหรือขอบเกล็ดด้านหน้า จะมีสีแดง แต่ซาชิ ของ ไอโกโรโมะ จะต้องมีสีคราม โดยสีครามเมื่ออยู่บนเกล็ดสีแดงจะดูเหมือนสีดำ แต่เกล็ดซาชิของไอ โกโรโมะ ไม่ได้อยู่บนเกล็ดสีแดง จึงมีสีครามชัดเจน ชื่อไอ โกโรโมะ จึงถูกตั้งตามสีของซาชินี่เอง
3. Ai-no-Fuki (ไอ-โน-ฟุกิ) การเกิดขึ้นของสีคราม
บนเกล็ดในลวดลายสีแดงของปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ไอ โกโรโมะ จะมีสีครามหรือสีดำเป็นลวดลายครึ่งเสี้ยวอยู่โดยได้รับลวดลายลักษณะนี้มาจากปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ อาซากิ โดยลักษณะในอุดมคติ ลวดลายสีครามควรเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งผืนของลวดลายสีแดงและมีลักษณะคล้ายพระจันทร์เสี้ยว
4. ส่วนที่ไม่มีสีคราม
เกล็ดบริเวณในภาพหมายเลข 4 ไม่มีสีครามบนสีแดง แต่โดยปกติแล้ว สีครามจะค่อยๆพัฒนาและสามารถปรากฏขึ้นได้อย่างต่อเนื่องเมื่อตัวปลาเองพัฒนาหรือโตขึ้น แต่ถ้าพิจารณา ณ ปัจจุบัน ปลาที่มีลักษณะแบบในภาพ คือ มีพื้นที่ๆไม่มีสีครามบนลวดลายสีแดง ถือเป็นตำหนิ หรือข้อด้อยในการพิจารณาความสวยงาม
5. สีขาว
เมื่อเราเปรียบเทียบบริเวณพื้นผิวสีขาว ระหว่างปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ โคฮากุ และปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ไอ โกโรโมะ ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ โคฮากุ จะมีผิวสีขาวบริสุทธิ์ ในขณะที่ ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ไอ โกโรโมะ จะมีผิวสีขาวออกฟ้าเล็กน้อย นั่นเป็นเพราะได้รับลักษณะสายพันธุ์มาจาก ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ อาซากิและมีสายเลือดใกล้เคียงกับ อาซากิ มากกว่าโคฮากุ นั่นเอง แต่พื้นผิวสีขาวอมฟ้า ก็เป็นที่ดึงดูดที่น่าหลงใหลอีกอย่างหนึ่งของปลาสายพันธุ์นี้เช่นกัน
6. สีครามบนหัว
จะดีกว่ามากๆสำหรับปลาตัวนี้ ที่ไม่มีจุดสีครามนี้บนหัว เมื่อเราทราบกันดีแล้วว่า ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ไอ โกโรโมะ จะมีสีครามปรากฏขึ้นบนพื้นลวดลายสีแดง นั่นคือ เป็นธรรมชาติที่สีคราม จะปรากฏขึ้นบนบริเวณหัวที่มีลวดลายสีแดงด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้น ไม่ถือว่าเป็น ตำหนิที่สำคัญ แต่อย่างไรก็ตาม ในการประกวดปลาแฟนซีคาร์พ ปลาตัวนี้อาจจะมีความเสียเปรียบเมื่อต้องไปตัดสินความสวยงามเทียบกับปลาตัวอื่นที่ไม่มีสีครามบริเวณหัวของมัน
เรามาลองสวมบทกรรมการตัดสินความสวยงามกันดีกว่าครับ

มีปลาแฟนซีคาร์พที่สวยตามอุดมคติ เยอะมากๆในงานประกวด แต่กรรมการจะเลือกปลาที่สวยที่สุดเพียงหนึ่งตัวเท่านั้น เรามาลองสวมบทบาทกรรมการในการตัดสินดูครับ ว่าเราจะเลือกตัดสิน ว่าปลาตัวไหนสวยกว่ากัน ดังนั้น เมื่อเราเอาปลามาเปรียบเทียบความสวยงามตามแต่ละสายพันธุ์ เราไม่ควรที่จะเปรียบเทียบเพียงลักษณะที่เห็นอย่างง่ายๆชัดเจนเท่านั้น แต่เราควรที่จะเปรียบเทียบ ระดับความสมบูรณ์ของลักษณะตามแต่ละสายพันธุ์ด้วย

จากภาพ ปลาตัวทางด้านซ้าย มีผิวสีขาวบริสุทธิ์ ลวดลายสีแดงสวยงามมาก ตาข่ายสีครามบนลวดลายสีแดงปรากฏชัดแน่นตั้งแต่บริเวณไหล่ถึงช่วงหาง ปลา ไอ โกโรโมะ ตัวนี้ถือว่าได้คะแนนโดยรวมสูงมาก

ปลาตัวทางด้านขวา มีความสมดุลระหว่างสีขาวและสีแดงมาก ทำให้รู้สึกถึงความสว่าง มีลวดลายมารูเต็ง หรือ มงกุฎเล็กๆบริเวณหัวที่น่ารัก และมีตาที่มีสเน่ห์ดึงดูดใจ

เราลองเปรียบเทียบดูครับ ว่าตัวไหน จะชนะในงานประกวด เรามีเฉลยด้านล่างครับ
Koromo Showa (โกโรโมะ โชว่า)

การผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่าง ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ อาซากิ และ ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ โชว่า ทำให้เกิดลูกปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ โกโรโมะ โชว่า
ในปัจจุบัน ผู้เพาะพันธุ์ จะนำพ่อและแม่พันธุ์ ของปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ โกโรโมะ โชว่า เท่านั้น ผสมพันธุ์กันเพื่อเพาะ โกโรโมะ โชว่า เพื่อให้สายพันธุ์มีความนิ่งและดีขึ้น
ลักษณะของปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ โกโรโมะ โชว่า เหมือนปลาตัวในภาพด้านบน มีเงาตาข่ายสีครามในลวดลายสีแดงค่อนข้างเข้มจนเป็นสีดำ ปลาตัวนี้เป็นปลา โกโรโมะ โชว่า ที่สวยงามมาก
เมื่อปลายังมีอายุน้อย บนลวดลายสีแดงยังไม่มีลายตาข่ายสีดำที่เข้มนัก ทำให้ลูกปลา โกโรโมะ โชว่า ดูเหมือนลูกปลา โชว่า ธรรมดาทั่วไป แต่เมื่อปลามีอายุราว 2-3 ปี ลวดลายสีดำบนพื้นแดงจะค่อยๆปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง อาจจะใช้เวลา 4-5 ปีที่ลายตาข่ายสีดำจะพัฒนาครอบคลุมทั่วทั้งผืนแดงเหมือนปลาตัวในภาพ
เมื่อเราเลี้ยง ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ โชว่าซันโชกุ ในบางครั้ง เราอาจจะเจอปลาบางตัวที่มีสีดำขึ้นชัดขึ้นเรื่อยๆบนพื้นแดง ทำให้เรารู้สึกว่า ความสวยงามของปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ โชว่าซันโชกุ ถูกทำลายไปแต่อย่าเพิ่งผิดหวังครับ ปลาตัวที่ว่า อาจจะพัฒนาเป็น ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ โกโรโมะ โชว่า ก็เป็นได้
ทีนี้เรามาพิจารณาปลาตัวในภาพกันบ้าง ลวดลายตาข่ายสีครามเข้ม เรียงตัวอย่างสวยงามบนลวดลายสีแดงทั่วทั้งตัว แต่ยกเว้น ในสีแดงบนหัว นี่ถือเป็นอุดมคติ ของปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ โกโรโมะ
ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ โกโรโมะ โชว่าที่ดี ไม่เพียงแต่ต้องมีลวดลายตาข่ายสีครามที่ดี แต่ยังต้องมีลวดลายที่สวยงามลงตัวทั่วทั้งหมดด้วย เหมือนกับที่เราพิจารณาความสวยงามของปลาแฟนซีคาร์พ สายพันธุ์ โชว่าซันโชกุ ที่ต้องมีความสมดุลลงตัวระหว่าง สีแดง ดำและขาว จึงจะเป็น โชว่าที่สวยงาม แล้วยิ่งเมื่อมีตาข่ายสีครามบนพื้นแดงด้วย ยิ่งทำให้ปลาตัวนั้นดูโดดเด่นมากขึ้น เราสามารถพูดได้ว่า ปลาตัวในภาพ เป็น ปลาโกโรโมะ โชว่า ที่ดีมากๆที่สุดตัวหนึ่งเลยทีเดียว
Kage Koromo Showa (คาเงะ โกโรโมะ โชว่า)

ต้นกำเนิดของปลาโกโรโมะ โชว่า คือ ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ไหน ปลาตัวนี้ จะช่วยอธิบายได้อย่างดี
เมื่อเรามองในส่วนของพื้นผิวสีขาวของปลาตัวในภาพด้านบนนี้ มันทำให้เรานึกถึงปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ อาซากิ ปลาตัวนี้คือผลของการเพาะพันธุ์ข้ามสายพันธุ์ระหว่างปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ อาซากิ และปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ โชว่าซันโชกุ
โกโรโมะ โชว่า เกิดขึ้นจากเมื่อผิวของปลาแบบ ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ อาซากิค่อยๆเปลี่ยน เป็นสีขาว
ปลาตัวในภาพ เกิดขึ้น ในระหว่างช่วงของการเปลี่ยนแปลงเป็น โกโรโมะ โชว่า ที่สมบูรณ์ ดังนั้น เราจะไม่สามารถพบปลา คาเงะ โกโรโมะ โชว่า ได้บ่อยนัก หรือไม่สามารถเพาะพันธุ์ได้อีกโดยสมบูรณ์แล้ว แม้ว่าเราจะต้องการมันก็ตาม
แต่ก็มีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า การย้อนกลับสู่บรรพบุรุษ กล่าวคือ ในการเพาะพันธุ์ ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ โกโรโมะ โชว่า มันก็มีโอกาสที่จะได้ลูกปลา คาเงะ โกโรโมะ โชว่า เช่นกัน แต่ก็ต้องอาศัยโชคด้วย เพราะมันมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากๆ
เมื่อเราพบปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์หายากหรือแปลกๆ เราควรจะลองใส่ใจดูและพยายามทำความเข้าใจถึงลักษณะสำคัญ และความเป็นไปได้ว่าเราจะสามารถค้นหา สืบเสาะไปยังบรรพบุรุษของมันได้ นี่ก็เป็นสเน่ห์อีกอย่างหนึ่งของการศึกษาเกี่ยวกับปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์แปลกๆนะครับ
Budo Koromo (บูโด โกโรโมะ) ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ โกโรโมะสีม่วง ลักษณะการพิจารณาความสวยงามก็เหมือนกับ ไอ โกโรโมะ เช่นกัน ทั้งลวดลายพื้นฐานแบบ โคฮากุ ความสม่ำเสมอของสีและลวดลายตาข่าย คุณภาพผิวสีขาวและม่วง อาจจะแตกต่างนิดหน่อยตรงสีบริเวณหัวปลา ที่ไม่จำเป็นต้องมีสีแดงเคลียร์เหมือน ไอ โกโรโมะ จึงจะมีคะแนนความสวยงามที่เหนือกว่า แต่ควรจะเป็นสีม่วงที่สม่ำเสมอเหมือนกันทั่วทั้งตัวมากกว่าครับ
บทเฉลยสำหรับการตัดสิน ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ไอ โกโรโมะ

จากภาพ ความสวยงามของปลาทั้งสองตัวเกือบจะเท่ากันพอดี เป็นเรื่องยากที่จะตัดสินว่าปลาตัวไหนดีกว่ากัน ถ้าท่านมีความรู้เกี่ยวกับปลาแฟนซีคาร์พบ้างพอสมควร มักจะตอบว่า ปลาแฟนซีคาร์พตัวทางด้านซ้ายดีกว่า เพราะว่ามีลวดลายที่สวยสมดุลกว่า บางท่านก็อาจจะตอบว่า ปลาตัวทางด้านซ้ายดีกว่า เพราะมีสีแดงที่หนาและดูสวยงามกว่า
บางท่านก็อาจจะตอบว่า ปลาตัวทางด้านขวาดีกว่า เพราะลวดลายมารูเต็งที่หน้ามีสเน่ห์และมีผิวสีขาวที่ดีกว่า

ลองคิดหาคำตอบของตัวท่านเองก่อนอ่านเฉลยต่อไปนี้นะครับ

1. เรื่องแรก เมื่อเราเปรียบเทียบเรื่องของแพทเทิร์นลวดลายเท่านั้น ปลาตัวด้านซ้ายดีกว่าชัดเจน แม้ว่าปลาตัวทางด้านขวาจะมีลวดลายบริเวณหน้าที่น่ารักและมีสเน่ห์กว่าก็ตาม แต่ปลาตัวทางด้านซ้ายมีลวดลายที่สวยสมดุลกว่าตลอดทั่วทั้งตัว
2. เมื่อเราเปรียบเทียบ ความหนาของสีแดง ปลาตัวทางด้านซ้ายก็ดีกว่าเช่นกัน เพราะมีสีแดงที่หนาและสวยงามกว่า
ดังนั้นเมื่อเราเปรียบเทียบด้วยสายตา ปลาตัวทางด้านซ้าย ดูสวยงามกว่าชัดเจน ถ้าเราไม่ได้ศึกษาถึงการพิจารณาความสวยงามของปลาแฟนซีคาร์พในแต่ละสายพันธุ์ที่ถูกต้อง เราก็จะตัดสินได้โดยง่ายว่า ปลาตัวทางด้านซ้าย น่าจะชนะในงานประกวดแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ในการเปรียบเทียบนี้ จะขออธิบายว่า ปลาตัวทางด้านขวา มีระดับที่สูงกว่าปลาตัวทางด้านซ้าย หรือดีกว่านั่นเอง เพราะ
เนื่องมาจาก ปลาทั้งสองตัวเป็นปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ไอ โกโรโมะ ลักษณะหลักที่สำคัญของปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ไอ โกโรโมะ คือ การมีลวดลายตาข่ายคล้ายพระจันทร์เสี้ยวสีครามบนลวดลายสีแดง ดังนั้น การเปรียบเทียบที่สำคัญที่สุดของลักษณะเฉพาะของสายพันธุ์นี้ จึงพิจารณาจาก ความสวยงามของลวดลายสีครามที่ปลาทั้งสองตัวมี นี่คือข้อแตกต่างระหว่างปลาทั้งสองตัว

ดูจากบริเวณหมายเลข 1 ของปลาตัวทางด้านซ้าย จะเห็นได้ว่า มีส่วนของสีครามมากเกินไป ส่วนของสีครามไม่ควรเยอะจนดำมากขนาดนี้ เมื่อลองพิจารณาบริเวณหมายเลข 2 และ 2’ ปลาตัวทางด้านขวาหรือส่วนของ 2’ มีลวดลายสีครามที่มีลักษณะคล้ายพระจันทร์เสี้ยวโดยสมบูรณ์ทั่วทุกเกล็ด และเรียงตัวอย่างสวยงามสม่ำเสมอ นี่คือบริเวณที่สามารถนำไปใช้เป็นตัวอย่างของลวดลายสีครามในอุดมคติ สำหรับปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ไอ โกโรโมะ ได้

ในส่วนของปลาตัวทางด้านซ้าย บริเวณหมายเลข 2 ลวดลายสีครามดูไม่สม่ำเสมอเหมือน 2’

เมื่อพิจารณาบริเวณ หมายเลข 4 ของปลาตัวทางด้านขวา ส่วนของลวดลายสีแดงมีสีค่อนข้างคล้ำ แต่เนื่องมาจากว่า เป็นเรื่องปกติของปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ที่มีสีครามหรือดำ จึงถือเป็นข้อตำหนิเพียงเล็กน้อย

เมื่อพิจารณาบริเวณหมายเลข 5 ของปลาตัวทางด้านซ้าย จะเห็นได้ว่า ลวดลายตาข่ายสีครามยังไม่ปรากฏให้เห็นบางจุด และด้วยเพราะว่า การตัดสินปลาในงานประกวด จะตัดสิน ณ เวลานั้นๆ ไม่ได้พิจารณาถึงอนาคตของปลา การที่ลวดลายสีครามยังไม่ปรากฏ จึงถือเป็นตำหนิชัดเจน

เมื่อพิจารณาบริเวณหมายเลข 3 ของปลาทั้งสองตัว ถือว่า มีซาชิสีคราม (Ai Sashi) ที่สวยสมบูรณ์ ซึ่งเป็นจุดสำคัญมากอีกจุดหนึ่งของการพิจารณาความสวยงามของปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ไอ โกโรโมะ และสามารถนำไปใช้เป็นตัวอย่างที่ดีในการพิจารณาความสวยงามในอุดมคติได้

ปลาตัวทางด้านซ้าย มีลวดลายที่สวยงามและมีสีแดงที่สวยและหนากว่า แต่ปลาตัวทางด้านขวาดีกว่ามากในเรื่องของ ลวดลายตาข่ายคล้ายพระจันทร์เสี้ยวสีคราม ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่สำคัญมากของปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ไอ โกโรโมะ ดังนั้น ปลาตัวทางด้านขวาจึงชนะจากการตัดสินในงานประกวดในสายพันธุ์ ไอ โกโรโมะ ครับผม


เหมือนเช่นเคยครับ ขอจบบทความเรื่องปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ โกโรโมะ ด้วยคลิป ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ บูโด โกโรโมะ สวยๆ ที่ได้รับรางวัล Tsubaki Prize 85 Bu จากงาน All Japan Koi Show 2015 ฝีมือการถ่ายทำของช่างภาพปลาคาร์พมือหนึ่งของเอเชีย พี่เจน มณีรัตน์ ครับ