วิธีการเลือกปลาแฟนซีคาร์พ โดยการเปรียบเทียบ แบบแยกส่วน

วิธีการเลือกปลาแฟนซีคาร์พ โดยการเปรียบเทียบ แบบแยกส่วน

เมื่อ 29 ตุลาคม 2557 เวลา 10:09
ท่านสมาชิก www.koi108.com มีวิธีการเลือกพิจารณาความสวยงาม ของปลาแฟนซีคาร์พกันแบบไหนบ้างครับ วันนี้ผมจะขอเสนอการเลือกปลาแฟนซีคาร์พวิธีหนึ่ง ที่ได้ผลทีเดียวในกรณีที่ยากจะตัดสินใจว่า ตัวไหนดีกว่ากันครับ วิธีนี้คือ วิธีเปรียบเทียบ แบบแยกส่วน โดยเราจะแบ่งพิจารณา แพทเทิร์นของปลา เป็นส่วนๆนะครับ
ยกตัวอย่างปลาในภาพทั้งสองตัวนี้นะครับ เป็นปลา Showa Sanshoku ทั้งคู่ แต่ตัวนึงเป็นประเภท Kinginrin (กินริน) และอีกตัวหนึ่ง เป็น Doitsugoi (ปลาหนังหรือปลาดอยทซึ) ครับ
โดยเราจะเปรียบเทียบ ความสวยงามของแพทเทิร์น แยกเป็นส่วนๆ ใช้ได้กับปลาแฟนซีคาร์พ เกือบทุกสายพันธุ์นะครับ และสามารถปรับใช้กับการเลือกที่โครงสร้างของปลาได้เช่นกันครับ

ดังภาพตัวอย่าง เราจะเปรียบเทียบกันที่ รูปแบบความสวยงามของแพทเทิร์น ของสี ขาว แดง และดำ (สมมติสายพันธุ์อื่นก็ปรับกันไปว่าสายพันธุ์นี้มีสีอะไรเป็นพื้นฐานบ้าง มีตาข่ายหรือไม่ มีงามเงางามของแต่ละส่วนเป็นอย่างไร ความสม่ำเสมอของสีแต่ละส่วนเป็นอย่างไรนะครับ)

ถ้าเราเปรียบเทียบช่วงหางระหว่างปลาแฟนซีคาร์พทั้งสองตัวนี้ สีทั้งสาม รวมตัวกันอย่างลงตัว ทำให้เกิดแพทเทิร์น รูปแบบของลวดลายที่สวยงามทั้งคู่ ดังนั้น ส่วนหางนี้ ถือว่าเสมอกันครับ
เมื่อเราเปรียบเทียบ ส่วนของลำตัวส่วนหลังของปลาแฟนซีคาร์พทั้งสองตัวนี้

ตัวด้านซ้าย(กินริน) มีความสมดุลย์ของสีทั้งสามที่ดีเลิศ ในขณะที่ตัวด้านขวา(ดอยทซึ) มีเพียงสีขาวและแดง การไม่มีสีดำในส่วนนี้ถือเป็นจุดเสียเปรียบจุดใหญ่ของการพิจารณาเปรียบเทียบครั้งนี้ รวมทั้งการที่มีสีแดงมากกว่า 90% ของส่วนที่นำมาพิจารณาด้วย ทำให้ยิ่งด้อยกว่ามากขึ้น

สีขาว แดงและดำ ควรมีเท่าๆกันในแต่ละส่วน(เฉพาะในการพิจารณาความสวยงามด้านแพทเทิร์นของปลา Classic Showa) การที่มีสีแดงมากไปในส่วนนี้ ทำให้ปลาตัวด้านขวา(ดอยทซึ) ด้อยกว่า ปลาตัวด้านซ้าย(กินริน)
เมื่อพิจารณา ส่วนของลำตัวท่อนบน หรือช่วงไหล่

ปลาตัวซ้าย(กินริน) มีลวดลายที่สวยงามลงตัว
ปลาตัวด้านขวา(ดอยทซึ) มีดำที่เข้ม ทรงพลังอยู่ตรงกลางบนสีขาว และมีสีแดงที่สวยงาม
ในส่วนนี้ ปลาทั้งสองตัวถือว่าเสมอกันครับ
เมื่อพิจารณาในส่วนหัวและหน้า
ปลาตัวทางด้านซ้าย(กินริน) มีลวดลายแพทเทิร์น ของสีทั้งสามที่สวยงามมาก เหมือนงานศิลปะชิ้นเยี่ยมของศิลปินชั้นยอด ไม่น่าจะมีปลาโชวะที่มีหน้าสวยงามได้มากกว่านี้อีก
ในขณะที่ปลาตัวทางด้านขวา(ดอยทซึ) มีลวดลายแพทเทิร์นของสีทั้งสามที่สัมพันธ์ระหว่างกันอย่างลงตัว เป็นแบบอย่างได้สำหรับการเลือกลวดลายส่วนหัวและหน้าของปลาโชวะ แต่ก็ยังด้อยกว่าตัวทางด้านซ้าย(กินริน)
สุดท้ายในการตัดสินใจเลือก ก็คือการนำทุกส่วนมาพิจารณารวมๆกัน ในตัวอย่างนี้ ปลาดอยทซึ โชวะ ด้อยกว่าในช่วงลำตัวส่วนหลัง และ ส่วนหัวและหน้า ทำให้สามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าควรเลือก ปลากินรินโชวะ เป็นปลาที่สวยงามกว่าในด้านแพทเทิร์น


ในขณะเดียวกันมีอีกหลายส่วนที่เราสามารถนำมาร่วมพิจารณาในแต่ละส่วนด้วยได้ เช่น ครีบว่าย โมโตกุโร่ ขนาดข้อหาง ปากเบี้ยวไหม ท้องเบี้ยวไหม เป็นต้นครับ ซึ่งจะขอนำมาเสนอในโอกาสต่อๆไป และเราจะเรียนรู้ไปด้วยกันครับ สวัสดีครับ
รับรู้ข้อมูล ข่าวสาร โปรโมชั่นต่างๆ บทความใหม่ๆได้ก่อนใคร เพียงท่านกดไลค์แฟนเพจ koi108.com ที่
www.facebook.com/koi108
หรือ ทางไลน์กรุ๊ป ผ่านทาง QR code ในภาพนะครับ