ปลาแฟนซีคาร์พหมวดหมู่สายพันธุ์ Utsuri Mono

ปลาแฟนซีคาร์พหมวดหมู่สายพันธุ์ Utsuri Mono

เมื่อ 30 กรกฎาคม 2557 เวลา 01:38
เรามาทำความรู้จักปลาแฟนซีคาร์พในหมวดหมู่สายพันธฺุ์ Utsuri Mono {อุทสึริ(อุทจึริ) โมโน} ด้วยกันนะครับ
Utsuri Mono {อุทสึริ(อุทจึริ) โมโน} ถ้าแปลกันตามตัวอักษร จะแปลได้ว่า การสะท้อน หรือสิ่งที่สะท้อนให้เห็น
เราสามารถจัดหมวดหมู่แยกตามสีที่แตกต่างกันสามสี ได้เป็นสามสายพันธุ์ย่อยๆ สายพันธุ์แรกและสำคัญที่สุดได้แก่ Shiro Utsuri {ชิโระ(ชิโร่) อุทสึริ(อุทจึริ)} ชิโระหรือชิโร่ แปลว่า สีขาว
สายพันธุ์ที่สอง คือ Hi Utsuri {ฮิ อุทสึริ(อุทจึริ)} ฮิ แปลว่า ไฟ หรือ สีแดง
สายพันธุ์ที่สาม เป็นสายพันธุ์ที่หายากที่สุด(ในสมัยนั้น) คือ Ki Utsuri {คิ อุทสึริ(อุทจึริ)} คิ แปลว่า สีเหลือง
ทั้งสามสีที่แตกต่าง ถูกทำให้เด่น โดยพื้นสีดำ ซึ่งปรากฏจากใต้พื้นสีผิวขาว แดง และเหลือง สร้างเป็นลวดลายที่ทำให้นึกถึง การสะท้อนของสีต่างๆ บนพื้นหลังสีดำ
เมื่อท่านผ่านการเลี้ยงปลาแฟนซีคาร์พมาระยะหนึ่ง ท่านจะเริ่มเข้าใจถึงความสวยงามของ สีขาว ของปลาแฟนซีคาร์พ

ในตอนเริ่มต้นเลี้ยง เรามักจะเริ่มศึกษาจากสีแดง จากนั้นก็ศึกษาเกี่ยวกับสีดำ และสุดท้ายเราจะมาศึกษากันในเรื่องของสีขาว เมื่อท่านศึกษาได้เข้าใจ อย่างถ่องแท้ ถึงความสวยงามที่แท้จริง ความน่าดึงดูดใจ ของสีขาวแล้ว ก็สามารถเรียกตัวเองได้ว่า เป็นนักเลี้ยงปลาแฟนซีคาร์พที่มีระดับสูงขึ้น เรียกง่ายๆว่า ขั้นเทพ นั่นแหละครับ (เทพ โพธิ์งาม รึเปล่าไม่แน่ใจนะครับ)


ปลาแฟนซีคาร์พที่มีสีแดง ยกตัวอย่าง เช่น โคฮากุ (Kohaku)หรือ ซังเก้ (Taisho Sanshoku) มักจะมีความสามารถที่จะดูดซับเม็ดสีแดง (Carotene) จากสารอาหารเร่งสีได้ดี

การเลี้ยงดัวยอาหารเร่งสี จะทำให้มีการดูดซับและสะสมเม็ดสีแดงในชั้นไขมันของปลาแฟนซีคาร์พ สีแดงบนตัวปลาจึงเข้มขึ้น ด้วยเหตุนี้ การสะสมเม็ดสีแดงในชั้นไขมันบริเวณที่เป็นสีขาว จะทำให้พื้นสีขาวมีสีแดงเรื่อออกเป็นสีแสด เรามักจะมองเห็นว่าปลามีสีผิวออกเหลืองขึ้น จากสีแสดในชั้นไขมันบริเวณสีขาวนั่นเอง

ถึงแม้ว่า ปลาแฟนซีคาร์พที่เราเลี้ยง ในตอนแรกเริ่ม จะมีสีขาวคุณภาพสูง หรือขาวบริสุทธิ์ก็ตาม แต่มักจะเป็นเรื่องยากที่จะคงรักษาไว้ซึ่งคุณภาพของสีขาวระดับสูง เมื่อเวลาผ่านไป

ส่วนใหญ่เรามักจะไม่ให้อาหารเร่งสี หรืออาหารอะไรก็ตามที่มี แคโรทีน (Caratene) เป็นส่วนประกอบกับปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ Shiro Utsuri (ชิโระ อุทสึริ) เพื่อให้ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ชิโระ อุทสึริ มีสีขาวที่บริสุทธิ์มากกว่าปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์อื่นๆ นักเลี้ยงปลาระดับจริงจัง มักจะไม่เลี้ยงปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ชิโระ อุทสึริ ที่มีคุณภาพสูง ร่วมกับ ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์อื่นๆที่ต้องการอาหารเร่งสี


ชิโระ อุทสึริ(Shiro Utsuri) ฮิอุทสึริ(Hi Utsuri)และโชว่า(Showa Sanshoku) เป็นปลาแฟนซีคาร์พที่มีเชื้อสายเดียวกัน แต่ละสายพันธุ์พัฒนามาจนมีความนิ่ง คงที่แล้ว การเพาะพันธุ์จึงใช้ ชิโระ อุทสึริ จับคู่กันเอง เพื่อเพาะพันธุ์ ชิโระ อุทสึริ ในสายพันธุ์โชว่าก็เช่นกัน จะใช้พ่อและแม่โชว่าในการเพาะพันธุ์ โชว่า
ในการเพาะพันธุ์ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ โชว่า อาจจะได้ลูกปลา ชิโระ อุทสึริและฮิ อุทสึริด้วยเช่นกัน นี่ก็เป็นข้อพิสูจน์อีกข้อหนึ่งว่า ทั้งสามสายพันธุ์นี้สืบเชื้อสายเดียวกันมา


ในสมัยก่อน ผู้เพาะพันธุ์จะเพาะพันธุ์ได้ปลาแฟนซีคาร์พ สายพันธุ์ชิโระ อุทสึริ และฮิ อุทสึริ ก็ด้วยหลุดหลงมาจากการเพาะพันธุ์ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์โชว่า แต่ในปัจจุบัน ด้วยความต้องการจะพัฒนาสายพันธุ์ปลาแฟนซีคาร์พให้มีคุณภาพที่ดี (สายพันธุ์ที่นิ่ง) ผู้เพาะพันธุ์จะเพาะปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ชิโระ อุทสึริ ด้วยพ่อและแม่ที่เป็นชิโระ อุทสึริ เท่านั้น

ปลาชิโระ อุทสึริ คุณภาพสูง ดังตัวในภาพ ก็เพาะพันธุ์มาจากพ่อและแม่ที่เป็นชิโระ อุทสึริทั้งคู่ เช่นกัน
Ichimatsu Pattern (อิชิมัตสุ แพทเทิร์น/ลวดลายตารางหมากรุก)


ลวดลายในบริเวณช่วงหางของปลาแฟนซีคาร์พ เป็นส่วนสำคัญมากในการพิจารณาความสวยงาม

ลวดลายบริเวณช่วงหางของปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ชิโระ อุทสึริในภาพ เป็นลวดลายแบบตารางหมากรุก (Ichimatsu Pattern ลวดลายตารางหมากรุก เป็นลวดลายที่เป็นอุดมคติ มีคุณค่าสูง สำหรับปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ชิโระ อุทสึริ)

ในภาพรวม ความสวยงามของลวดลายของปลาตัวนี้ ทั้งส่วนหัว ส่วนลำตัว และลวดลายตารางหมากรุกในส่วนหาง ทำให้ปลาชิโระ อุทสึริตัวนี้ เป็นปลาที่สวยงามโดดเด่นเป็นอุดมคติอีกตัวหนึ่งสำหรับสายพันธุ์ ชิโระ อุทสึริ
คุณภาพของสีดำ (Sumi)
ปลาชิโระ อุทสึริ (B) เป็นปลาที่มีคุณภาพสูง ได้รางวัลในการประกวด All Japan Nishikigoi Show แต่เมื่อเปรียบเทียบกับปลาชิโระ อุทสึริตัวก่อนหน้า(A) มีจุดสังเกตที่แตกต่างกันในด้านคุณภาพของสีดำ กล่าวคือ ปลาชิโระ อุทสึริ(A) มีคุณภาพสีดำที่ดีที่สุด เป็นอุดมคติสำหรับปลาชิโระ อุทสึริ

ผิวสีขาว
ปลาชิโระ อุทสึริ (A) มีผิวสีขาวที่ดีเยี่ยม เป็นสุดยอดสำหรับปลาแฟนซีคาร์พทีเดียว ผิวสีขาวบริสุทธิ์บ่งบอกไม่เพียงแต่คุณภาพของปลา แต่ยังแสดงให้เห็นถึงทักษะของผู้เลี้ยงอีกด้วย

คุณภาพของน้ำและอาหาร ก็เป็นส่วนสำคัญในทักษะการเลี้ยงเพื่อไม่ให้ผิวสีขาวลดคุณภาพลง
สีดำบนครีบว่าย

สีดำบนครีบว่ายที่เป็นอุดมคติ จะเริ่มจากส่วนของลำตัว ครอบคลุมไปประมาณ 1 ใน 3 ของครีบว่าย และต้องมีลักษณะโค้งกลม เหมือนปลาชิโระ อุทสึริ(A) จะเป็นอุดมคติสำหรับปลา ชิโระ อุทสึริ
แต่สีดำบนครีบว่ายแบบเป็นแถบเหมือนปลา (C) ก็เป็นที่นิยมสำหรับปลา ฮิ อุทสึริ(Hi Utsuri) เช่นกัน

สีดำบนครีบว่าย เรียกว่า Motoguro (โมโตกุโร่) ปลาแฟนซีคาร์พบางตัวไม่มี โมโตกุโร่ แต่ถ้า มีความสวยงามด้านอื่นๆในภาพรวมที่ดีเยี่ยม การไม่มี โมโตกุโร่ ถือเป็นเพียงตำหนิเล็กน้อยเท่านั้น
Hachiware (ฮาชิวาเระ)
ลวดลายในส่วนหัว ถ้ามีครึ่งหนึ่งเป็นสีขาว และอีกครึ่งหนึ่งเป็นสีดำ ลวดลายแบบนี้เรียกว่า ฮาชิวาเระ เป็นลวดลายในอุดมคติของปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ชิโระ อุทสึริ

ปลาชิโระ อุทสึริตัวนี้(A) ลวดลายแบบ ฮาชิวาเระ ดูโดดเด่นมากขึ้น เมื่อดูเข้ากันลงตัวกับส่วนหาง (Odome) ที่รวมกันเป็นลวดลายตารางหมากรุก และจะเกิดความสมบูรณ์แบบเมื่อ ลวดลายในฝั่งเดียวกันของส่วนหัวและหาง เป็นคนละสีกัน (สีในส่วนหัวด้านขวาของปลาเป็นสีขาวในขณะที่สีในส่วนหางด้านขวาของปลาเป็นสีดำ และสีในส่วนหัวด้านซ้ายของปลาเป็นสีดำ ในขณะที่สีในส่วนหางด้านซ้ายของปลาเป็นสีขาว) ไม่ว่าใครที่ได้ดูปลาตัวที่มีลวดลายแบบนี้ จะเข้าใจได้เองถึงความสำคัญ ของความสมดุลย์ของลวดลาย
การพัฒนาสายพันธุ์ของ ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ชิโระ อุทสึริ


ปลาชิโระ อุทสึริ(B) ชนะรางวัลใหญ่ในการประกวด All Japan Nishikigoi Show ปี 1982 หลังจากนั้นราว 10 ปี ในปี 1991 ปลาชิโระ อุทสึริ(A) ได้รางวัลเดียวกันจากงานเดียวกัน ถ้าเราเปรียบเทียบปลาทั้งสองตัวนี้ จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน

ตั้งแต่ปี 1925 เมื่อ Mr.Kazuo Minemura ประสบความสำเร็จในการค้นพบ ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ชิโระ อุทสึริ จากนั้นตลอดระยะเวลาราว 65 ปี ผู้เพาะพันธุ์หลายราย พยายามเพาะพันธุ์ พัฒนาปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ชิโระ อุทสึริเรื่อยมา จนในที่สุดเมื่อปี 1991 ก็ได้สายพันธุ์ ชิโระ อุทสึริ ที่สมบูรณ์แบบ ดังเช่น ปลาชิโระ อุทสึริ(A) และยังไม่มีปลาตัวไหนที่สวยสมบูรณ์กว่านี้

การพิจารณาความสวยงามของปลาแฟนซีคาร์พ จะพิจารณาแต่เพียงลวดลายที่สวยงามแบบอุดมคติเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องพิจารณาถึงคุณภาพด้วยเป็นสำคัญ ในปัจจุบัน ผู้เพาะพันธุ์ต่างพยายามพัฒนาปรับปรุงในด้านคุณภาพ มากกว่าให้ความสำคัญกับลวดลาย
ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ Hi Utsuri (ฮิ อุทสึริ)

ปลาฮิ อุทสึริ ตัวในภาพ เป็นปลาที่มีคุณภาพสูง สามารถดูเป็นปลาในอุดมคติ หรือใช้เป็นตัวอย่างที่ดี สำหรับสายพันธุ์นี้ได้เลยทีเดียว

มีข้อสังเกต 3 ประการ ในการพิจารณาความสวยงามของปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ฮิ อุทสึริ
1. แพทเทิร์นของสี ทั้งแดงและดำ วางสลับกันอย่างลงตัวสวยงาม ทั่วทั้งตัวปลา
2. สีแดง ต้องแดงเข้ม และพื้นของสีแดงต้องไม่เลอะเทอะด้วยจุดดำที่เป็นฝุ่น [{Jyami(จยามิ)}จุดดำเล็ก หรือฝุ่นดำบนตัวปลา ในสายพันธุ์ที่มีแพทเทิร์นสีดำ ถือเป็นตำหนิแสดงถึงคุณภาพที่ด้อย]
3. สีแดงและดำบนครีบว่าย ต้องรวมกันเป็นแถบ โดยที่ไม่มีสีขาวมาปน

ข้อพิจารณาทั้งสามข้อ ควรใช้ตรวจสอบ เวลาที่ต้องการเลือกปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ฮิ อุทสึริ ที่ดี
ปลาตัวในภาพก็สามารถใช้เป็นตัวอย่างที่ดีในการเลือกได้เช่นกัน เพราะมีคุณสมบัติครบทั้งสามข้อดังกล่าว
ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ Ki Utsuri (คิ อุทสึริ)

ในปี 1927 คุณ Jyukichi Hoshino ปฏิวัติวงการปลาแฟนซีคาร์พ ด้วยการเพาะพันธุ์ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ โชวะ ซันโชกุ ได้สำเร็จ

แต่ก่อนหน้านั้น ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ที่เป็นที่นิยมที่สุด คือ ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ คิ อุทสึริ

ภายหลังจากการเกิดขึ้นของปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ โชวะ ซันโชกุ มีปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์อื่นๆที่สวยงาม เช่น ปลาแฟนซีคาร์พประเภทสายพันธุ์ Hikarimono (ฮิคาริโมโน) ปลาแฟนซีคาร์พประเภท Ginrin (กินริน) หลากหลายสายพันธุ์ ปลาแฟนซีคาร์พที่มีรูปแบบเฉพาะตัว (Unique) เช่น Kumonryu (คุมงริว)และ Ochibashigure (โอจิบะชิกุเระ) เกิดขึ้นและถูกพัฒนาอย่างรวดเร็ว

ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ที่ดูเรียบง่ายไม่หวือหวา อย่าง คิ อุทสึริ จึงแทบจะถูกลืมเลือนหายไป สายพันธุ์ คิ อุทสึริ จึงเกือบจะสูญพันธุ์ไปในช่วงนั้น
ปลา คิ อุทสึริ ในสมัยใหม่จึงยังมีสายพันธุ์ที่ไม่นิ่งมาก เพราะเพิ่งเริ่มมีการพัฒนาขึ้นใหม่

ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ คิ อุทสึริ เป็นสายพันธุ์ที่มีคุณค่าสูง สำหรับเตือนใจ ว่าปลาแฟนซีคาร์พที่เป็นที่นิยม ในสมัยมากกว่าแปดสิบปีก่อน มีลักษณะเป็นอย่างไร นั่นเอง
ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ Doitsu Shiro Utsuri (ดอยท์ซึ ชิโระ อุทสึริ)

ปลาตัวในภาพ เป็นปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ดอยท์ซึ ชิโระ อุทสึริ ที่พิเศษมากๆ คุณภาพของสีดำและผิวสีขาวบริสุทธิ์ ผสมผสานกันเป็นรูปแบบที่น่าหลงใหล ลืมไม่ลง บริเวณใบหน้า และ ลวดลายตารางหมากรุก(Ichimatsu Pattern)บริเวณไหล่ที่ดูมีพลัง ทำให้ปลาตัวนี้สวยงามเป็นพิเศษ

ด้วยเนื่องมาจาก มีผุ้เพาะพันธุ์มากมายที่มีความสามารถ ในการเพาะและพัฒนาสายพันธุ์ ชิโระ อุทสึริ มันจึงเป็นการง่ายที่ผู้เลี้ยงจะสามารถหา ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ชิโระ อุทสึริ มาเลี้ยง แต่ไม่ค่อยมีผู้เพาะพันธุ์ที่เพาะและพัฒนาปลา ดอยท์ซึ ชิโระ อุทสึริกันอย่างจริงจัง ปลาดอยท์ซึ ชิโระ อุทสึริ จึงมักเกิดขึ้น จากการเพาะปลา ดอยท์ซึ โชวะ เท่านั้น
และความน่าจะเป็นในการผลิตให้ได้ลูกปลา ดอยท์ซึ ชิโระ อุทสึริ จากการเพาะพันธุ์ปลา ดอยท์ซึ โชวะ มีน้อยมากๆ
การหาปลาดอยท์ซึ ชิโระ อุทสึริที่สวยมากๆแบบในภาพได้ จึงแทบจะเรียกได้ว่าปาฏิหารย์ทีเดียว
ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ Doitsu Hi Utsuri (ดอยท์ซึ ฮิ อุทสึริ)

ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ฮิ อุทสึริ เป็นปลาที่มีสีและลวดลายรวมกันระหว่างสีแดงและดำเท่านั้น
สีขาวไม่ควรปรากฏไม่ว่าจุดไหนบนตัวปลา เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นต้องพิจารณา

อย่างไรก็ตาม ปลาตัวในภาพเป็นปลา ดอยท์ซึ ฮิ อุทสึริ ที่ได้จากการเพาะพันธุ์ปลา ดอยท์ซึ โชวะ ปลาตัวนี้มี Motoguro {(โมโตกุโร่)สีดำที่โคนครีบว่าย ในอุดมคติ ควรมีประมาณ 30%ของครีบว่าย} และบริเวณปลายครีบว่ายเป็นสีขาว ถือเป็นตำหนิของปลา ฮิ อุทสึริ แต่เป็นตำหนิที่เล้กน้อย พอรับได้ (minor fault)

ปลาลักษณะคล้ายดังภาพ หากมีพื้นสีขาวเพียงเล็กน้อยในบริเวณลำตัว จะไม่ถือว่าเป็นปลา ฮิ อุทสึริ จะถือเป็นปลา ฮิ โชวะ แทน
ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ Kage Hi Utsuri {คาเงะ(คาเกะ) ฮิ อุทสึริ}

สำหรับปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ คาเงะ ฮิ อุทสึริ บริเวณเกล็ดบนพื้นสีแดงจะมีสีดำจางๆปกคลุมอยู่ เกล็ดที่มีสีดำจางๆ เรียก คาเงะ ซึ่งแปลความหมายได้ว่า เงา นั่นเอง

เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องพิจารณาสำหรับปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ Kage (คาเงะ) ทุกๆสายพันธุ์ คือ เงาสีดำในเกล็ดต้องสม่ำเสมอและปกคลุมทั่วทั้งตัว เหมือนปลาในภาพ(G)

เงาสีดำมักจะไม่ชัดเจน หรืออาจจะยังไม่มี ในตอนที่ปลายังเล็ก แต่จะชัดเจนหรือเริ่มมีขึ้น เมื่อปลามีอายุ 2-3 ปี และจะสมบูรณ์เมื่อปลามีขนาด 70-80 เซนติเมตร
เพราะฉะนั้น เมื่อปลามีขนาด 40-50 เซนติเมตร จะมีเพียงเกล็ดบางเกล็ดที่มีเงาสีเข้มขึ้น การจะหาปลา คาเงะ ให้ดีจึงเป็นเรื่องยาก เพราะเรามักไม่ทราบว่า เกล็ดที่มีเงา อยู่ในขั้นไหนของการพัฒนา ทางที่ดีควรจะขอคำปรึกษาจากผู้เพาะพันธุ์หรือดีลเลอร์ดีกว่า ปลาบางตัวแม้ว่าตอนเล็กๆอาจจะดูขี้เหร่ แต่เมื่อโตขึ้น อาจจะสวยงามก็เป็นได้ครับ

ปลา คาเงะ ฮิ อุทสึริ ในภาพ มีองค์ประกอบที่สมบูรณ์ ตามข้อสังเกตความสวยงามทั้งสามประการ ของปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ฮิ อุทสึริ อย่างสมบูรณ์แบบ นอกจากนี้ ในทุกๆเกล็ดบนพื้นสีแดงบนตัวปลา ก็มีเงาสีดำสม่ำเสมอ ทำให้ปลาตัวนี้ เป็น คาเงะ อิ อุทสึริ ที่สวยงามมาก สามารถเรียกว่า อุดมคติก็ว่าได้
ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ Kage Shiro Utsuri {คาเงะ(คาเกะ) ชิโระ อุทสึริ}

ในปัจจุบัน(ปี 2002) ไม่มีผู้เพาะพันธุ์รายใดที่ผลิตและพัฒนาปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ คาเงะ ชิโระ อุทสึริ
ปลาตัวในภาพ เป็นปลาที่เกิดจากการเพาะพันธุ์ ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ โชวะ ซันโชกุ
หลายท่านคงสงสัย ว่าทำไม ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ คาเงะ ชิโระ อุทสึริ จึงเกิดจากการเพาะพันธุ์ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ โชวะ ได้
จุดเริ่มต้น เกิดจากแม่พันธุ์ ที่ใช้ในการเพาะพันธุ์ ปลา โชวะ ซันโชกุ ครั้งแรก เมื่อกว่าแปดสิบปีก่อน

ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ Showa Sanshoku (โชวะ ซันโชกุ) ที่ถูกเพาะขึ้นได้เป็นครั้งแรก เกิดจากแม่พันธุ์ที่เป็นปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ Matsukawabake (มัตสึคาวะบาเกะ) ผสมกับ พ่อพันธุ์สายพันธุ์ Kohaku (โคฮากุ)
ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ มัตสึคาวะบาเกะ มีสายเลือดที่เข้มข้นของ ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ Asagi (อาซากิ) นี่คือเหตุผลที่ทำไมลูกปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ โชวะ ซันโชกุ ถึงมีบางส่วนเป็นสายพันธุ์อาซากิ และบางส่วนเป็น สายพันธุ์ ชิโระ อุทสึริ ด้วย เป็นเพราะสายเลือด ที่สืบมาจากบรรพบุรุษนั่นเอง

มีข้อสังเกตสำคัญสองข้อ ในการพิจารณาความสวยงามของปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ คาเงะ ชิโระ อุทสึริ คือ
1. ลวดลายแพทเทิร์นของสีดำ ควรเป็นแบบการพิจารณา ปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ ชิโระ อุทสึริ ดังที่กล่าวไปข้างต้น
2. ในแต่ละเกล็ด ต้องมีเงาสีดำที่สม่ำเสมอทั่วทั้งตัว คล้ายแพทเทิร์นของปลาแฟนซีคาร์พสายพันธุ์ อาซากิ


จบไปแล้วนะครับ กับบทความเรื่อง ปลาแฟนซีคาร์พหมวดหมู่สายพันธุ์ Utsuri Mono ยังมีเรื่องราวที่เป็นประโยชน์และสนุกอีกมากมายเกี่ยวกับปลาแฟนซีคาร์พ อย่าลืมติดตามกันนะครับ
รับรู้ข้อมูล ข่าวสาร โปรโมชั่นต่างๆ บทความใหม่ๆได้ก่อนใคร เพียงท่านกดไลค์แฟนเพจ koi108.com ที่
www.facebook.com/koi108
หรือ ทางไลน์กรุ๊ป ผ่านทาง QR code ในภาพนะครับ